เมื่อ 13 เดือนที่แล้ว คริสเตียน อีริคเซ่น หัวใจวายกลางสนามฟุตบอล ระหว่างศึกยูโร 2020 ในเกมที่เดนมาร์ก ปะทะฟินแลนด์
อีริคเซ่นหัวใจหยุดเต้นไป “5 นาที” ซึ่งในตอนนั้นเขาใกล้เคียงความตายมากๆ แต่ปาฏิหาริย์ก็บังเกิด เมื่อมีการ CPR อย่างเป็นระบบ จากหน่วยแพทย์ข้างสนาม พร้อมทั้งใช้เครื่องกระตุกหัวใจ (AED) ที่ทุกสนามบอลในยุโรปต้องมีเตรียมพร้อมไว้ ทำให้รอดตายกลับมาได้อย่างฉิวเฉียด
การรอดตายครั้งนั้น ทำให้เขาไม่สามารถลงเล่นได้ทั้งทัวร์นาเมนต์ยูโร จากนั้นพอจบศึกยูโรปั๊บ อีริคเซ่นไปอิตาลี เพื่อเตรียมตัวลงแข่งขันในซีซั่นใหม่กับต้นสังกัดอินเตอร์ มิลาน
ถ้าเป็นนักเตะคนอื่นๆ ที่เคยหัวใจวายแล้วรอดตายมาได้ พวกเขาจะเลิกเล่นฟุตบอลทันที เพราะมีความเสี่ยงจะเกิดหัวใจวายซ้ำ ตัวอย่างเช่น ฟาบริซ มูอัมบ้า กองกลางของโบลตันที่รอดตายจากอาการหัวใจวาย ก็เลือกแขวนสตั๊ดไปเลย
คือไม่ต้องถึงกับหัวใจหยุดเต้นขนาดนั้น แค่มีอาการเกี่ยวกับหัวใจนิดหน่อยเช่นเต้นผิดจังหวะส่วนใหญ่ก็จะเลิกเล่นไปเลยเหมือนกัน เช่นเคสของอีเคร์ กาซียาส หรือ เซร์คิโอ อาเกวโร่ เป็นต้น
ตัวอีริคเซ่นนั้น เพิ่งจะอายุ 29 ปี เขายังอยู่ในจุดพีกของการเล่นฟุตบอล ก่อนหน้านี้ก็เพิ่งช่วยอินเตอร์ มิลานได้แชมป์เซเรีย อา คือยังไม่ได้อยู่ในขาลงอะไร เช่นเดียวกับในทีมชาติ ที่เขาอยากพาเดนมาร์กไปลุยเวิลด์คัพ 2022 ที่กาตาร์ด้วย ดังนั้นเขาจึงไม่พร้อมที่จะแขวนสตั๊ดแบบมูอัมบ้า
สิ่งที่อีริคเซ่นต้องทำ คือการใส่เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (ICD) ฝังไว้ที่หน้าอกของตัวเอง เมื่อทันทีที่หัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ้าเครื่องนี้ก็จะปล่อยไฟฟ้า เพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นให้ถูกจังหวะ เป็นการช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยหมดสติอย่างกะทันหัน
อีริคเซ่นต้องใช้ชีวิตอยู่กับเครื่อง ICD ที่มีขนาดครึ่งหนึ่งของโทรศัพท์มือถือ ตลอด 24 ชั่วโมง ด้านในร่างกายของเขาจึงมีทั้งตัวเครื่องและสายไฟ ซึ่งก็จำเป็นต้องทำ เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดซ้ำอีกหน
ถามว่าการมีเครื่อง ICD ฝังในร่างกาย เป็นเรื่องที่แปลกไหม? คำตอบคือ ไม่
นี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ขนาดนั้น มีงานวิจัยบอกว่าในช่วง 5 ปีหลังสุด มีนักกีฬามาติดเครื่อง ICD ในร่างกายมากถึง 440 คน โดย 90% ของคนกลุ่มนี้ ไม่โดน ICD ช็อตไฟฟ้าเลยสักครั้ง ส่วนอีก 10% ที่เหลือเคยโดน แต่ก็รอดชีวิตกลับมาได้ทั้งหมด ในประวัติเท่าที่มีการบันทึก นักกีฬาที่ติด ICD ยังไม่เคยมีใครเสียชีวิตแม้แต่คนเดียว
นักกีฬาที่เคยติด ICD ในร่างกาย ที่ดังหน่อย คือดาลีย์ บลินด์ กองกลางทีมชาติฮอลแลนด์ของอาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัมนั่นเอง หลังจากเคยหัวใจวายในปี 2020 ก็ติดเอาไว้เพื่อความปลอดภัย แล้วก็กลับมาเล่นฟุตบอลตามปกติ
ทุกอย่างก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้อีริคเซ่นไปต่อไม่ได้ คือกฎของฟุตบอลอิตาลีที่ห้ามใส่เครื่องจักร หรืออุปกรณ์อีเล็กทรอนิคส์ใดๆ ลงสนามอย่างเด็ดขาด แม้แต่ ICD ก็ไม่มีข้อยกเว้น
ดังนั้นทางอินเตอร์ มิลาน จึงไม่สามารถทำอะไรได้ นอกจากต้องยอมปล่อยนักเตะทิ้งไปเล่นในลีกอื่น เพราะอีริคเซ่นไม่สามารถค้าแข้งที่อิตาลีได้อีกแล้ว
จริงๆ อินเตอร์ สามารถขายเอาเงินจากสโมสรอื่นๆ ก็ได้ แต่พวกเขาก็รู้ว่า คงมีไม่กี่สโมสรที่จะยอมจ่ายเงิน เสี่ยงเอาตัวอีริคเซ่นไป เพราะใครๆ ก็คงกลัวโรคหัวใจกำเริบอีกหน ดังนั้นจึงยอมยกเลิกสัญญาให้ฟรีๆ ให้อีริคเซ่นย้ายไปไหนก็ได้แบบไม่มีค่าตัว เพราะถ้าไม่ต้องจ่ายค่าตัว อาจจะทำให้มีสโมสรที่กล้าลองเสี่ยงกับอีริคเซ่นดูสักตั้ง เพราะก็แค่จ่ายค่าเหนื่อยอย่างเดียว คงไม่มีปัญหาอะไร
อินเตอร์ มิลาน ฉีกสัญญาให้อีริคเซ่น ในเดือนธันวาคม 2021 และแถลงการณ์ว่า “แม้อินเตอร์ กับคริสเตียนจะแยกทางกันแล้ว แต่สายสัมพันธ์ของเราไม่มีวันแตกสลาย ช่วงเวลาดีๆ ประตู และชัยชนะ รวมถึงการเฉลิมฉลองกับแฟนๆ ในการคว้าสคูเด็ตโต้ สิ่งเหล่านี้ที่เรามีร่วมกันจะอยู่ในประวัติศาสตร์ของสโมสรตลอดไป”
อีริคเซ่นได้กลายเป็นผู้เล่นฟรีเอเยนต์ และได้ข้อเสนอจากสโมสรใน สหรัฐอเมริกา และลีกจีน แต่เขาไม่พร้อมจะย้ายไป เนื่องจากประเด็นเรื่องครอบครัวที่ไม่พร้อมให้เขาไปไกลขนาดนั้น
แต่ก็นั่นแหละ ปัญหาคือบรรดาทีมใหญ่ๆ ในยุโรป ก็ไม่มีใครกล้าเสี่ยงกับคนที่เป็นโรคหัวใจมาก่อน
แต่ในที่สุด เกือบถึงวันสุดท้ายของตลาดเดือนมกราคม ก็มีสโมสรยื่นข้อเสนอเข้ามาให้ นั่นคือ เบรนท์ฟอร์ด ทีมน้องใหม่ในศึกพรีเมียร์ลีก เพราะในฟุตบอลอังกฤษ ยินดีต้อนรับนักกีฬาที่ติดเครื่อง ICD ในร่างกาย สามารถลงเล่นได้ตามปกติ
คนที่ผลักดันให้ดีลนี้เกิดให้ได้จริง คือโทมัส แฟรงค์ ผู้จัดการทีมเบรนท์ฟอร์ด ที่เคยเป็นโค้ชเยาวชนทีมชาติเดนมาร์กมาก่อน และเคยร่วมงานกับอีริคเซ่นอย่างใกล้ชิดตั้งแต่อดีตแล้ว เขารู้ว่าควรจะให้โอกาสกับอีริคเซ่น ในยามที่ไม่มีสโมสรไหนกล้า
ในมุมของอีริคเซ่น จะว่าไปแล้วเบรนท์ฟอร์ดก็เป็นชอยส์ที่ดี เพราะคุณจะได้ร่วมงานกับโค้ชที่รู้จักคุณเป็นอย่างดี ถ้าไหวก็บอกไหว ไม่ไหวก็บอกไม่ไหว ทุกอย่างมันก็น่าจะง่ายขึ้น นอกจากนั้นเบรนท์ฟอร์ดยังมีผู้ช่วยผู้จัดการทีมชาวเดนมาร์ก ไบรอัน รีเมอร์ และเพื่อนร่วมทีมชาติ คริสเตียน นอร์การ์ด และ แมทเธียส แจนเซ่น ดังนั้นมันเป็นบรรยากาศที่ดี ไม่บีบคั้นเกินไป
และอีกเหตุผลหนึ่งคือการที่เบรนท์ฟอร์ดอยู่ในเขตลอนดอน ก็ทำให้อีริคเซ่นใช้ชีวิตง่ายขึ้นด้วย เพราะตอนอยู่สเปอร์ส เขาก็ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนี้มาหลายปี
สุดท้ายอีริคเซ่น ต้องทำการทดสอบร่างกายอีกหลายรอบมาก เพื่อขอคำอนุญาตจากแพทย์ให้ลงสนามได้ในพรีเมียร์ลีก กว่าแพทย์จะคอนเฟิร์ม ก็ล่วงเลยถึงวันที่ 31 มกราคม 2022 วันสุดท้ายของตลาดซื้อขายพอดีเป๊ะ โดยอีริคเซ่นกับเบรนท์ฟอร์ด เซ็นกันระยะสั้นแค่ 5 เดือนเท่านั้น คือเบรนท์ฟอร์ดก็ไม่กล้าเสี่ยงเซ็นยาวเกิน คือถ้าเล่นดี ค่อยต่อสัญญาใหม่ก็ได้
ถือเป็นช่วงชีวิตที่น่าลำบากใจที่สุดครั้งหนึ่งของอีริคเซ่น จากผู้เล่นดีกรีแชมเปี้ยนส์ลีก อยู่ๆ ต้องมาเล่นกับทีมหนีตาย แต่ตอนนั้นเขาไม่มีทางเลือกมากนัก และเมื่อเบรนท์ฟอร์ดโยนขอนไม้ให้ เขาก็ยินดีจะรับมันไว้ด้วยความเต็มใจ
สำหรับค่าเหนื่อยนั้น ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่อีริคเซ่นกล่าวว่า “ขอยอมรับค่าเหนื่อยในโครงสร้างของเบรนท์ฟอร์ด” เพราะในตอนนี้เรื่องเงินไม่ใช่สิ่งที่เขาสนใจที่สุด
เบรนท์ฟอร์ดได้นักเตะคุณภาพดีไปเสริมทีม ส่วนอีริคเซ่นก็จะได้เวทีที่ทำให้ทีมใหญ่ๆ ได้เห็นว่า เขาสามารถเล่นฟุตบอลได้สบายๆ ไม่ต้องกลัวหัวใจล้มเหลวซ้ำสอง

สถิติก่อนที่อีริคเซ่นจะย้ายออกจากพรีเมียร์ลีก ช่วง 7 ปีที่อยู่กับสเปอร์ส (2013-2020)

เขามีสถิติที่สุดยอดหลายอย่างมาก เช่น
– อันดับ 1 ของลีก เรื่องการทำแอสซิสต์มากที่สุด (62 ครั้ง)
– อันดับ 1 ของลีก เรื่องการสร้างสรรค์โอกาสให้เพื่อนได้มากที่สุด (571 ครั้ง)
– อันดับ 1 ของลีก เรื่องการยิงประตูนอกเขตโทษ (23 ลูก)
– อันดับ 1 ของลีก เรื่องการยิงประตูฟรีคิกจังหวะเดียว (8 ลูก)
คือถ้าวัดกันตรงๆ ในช่วง 7 ปีของอีริคเซ่นในพรีเมียร์ลีก สถิติของเขาเหนือกว่าเพลย์เมกเกอร์คนอื่นๆ ทั้งเมซุต โอซิล, ดาบิด ซิลบา หรือ เอแด็น อาซาร์ เสียอีก
พอย้ายมาอยู่กับเบรนท์ฟอร์ดปั๊บ อีริคเซ่น ทำให้ได้เห็นว่า ผู้เล่นระดับท็อปคลาสหนึ่งคนสามารถเปลี่ยนแปลงทีมได้อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ
28 เกมที่อีริคเซ่นไม่ได้ลงตัวจริง เบรนท์ฟอร์ดชนะได้ 6 เกม มีอัตราชนะคู่แข่ง 21% แต่ใน 10 เกมที่อีริคเซ่นลงตัวจริง เบรนท์ฟอร์ดชนะคู่แข่งไป 7 เกม อัตราชนะคู่แข่งสูงถึง 70%!
จากทีมที่หนีตายอยู่ดีๆ มีเปอร์เซ็นต์ชนะคู่แข่งแค่ 21% อีริคเซ่นมาปั๊บ ก็เอาชนะได้รัวๆ ยิงประตูได้เยอะขึ้นมาก และชนะคู่แข่งไป 7 จาก 10 เกม สถิติบ้าคลั่งมากจริงๆ
สุดท้ายเบรนท์ฟอร์ดกระโดดจากกลุ่มหนีตาย รอดตกชั้นด้วยการอยู่อันดับ 13 ของตาราง ห่างจากโซนสีแดงถึง 9 แต้ม และเป็นทีมเดียวในกลุ่มน้องใหม่ ที่รอดการตกชั้นได้ด้วย (วัตฟอร์ด กับ นอริช ร่วงเรียบร้อย)
บทบาทของอีริคเซ่นที่เบรนท์ฟอร์ดนั้น เขาจะยืนเป็นกองกลางตัวต่ำที่สุด ในสไตล์อันเดรีย ปิร์โล่ คือพอดาบิด รายา ผู้รักษาประตูได้บอล อีริคเซ่นจะวิ่งไปขอบอลเลย จากนั้นคอยใช้คิลเลอร์พาสวางบอลสวยๆ ให้กองหน้าควบไปยิงประตู
ในช่วงที่อยู่เบรนท์ฟอร์ด อีริคเซ่นทำได้ถึง 4 แอสซิสต์ และสร้างสรรค์โอกาสมากมาย จุดสังเกตคือ เขาไม่ได้เล่นดีคนเดียวแต่ยังแผ่อิทธิพลจนเพื่อนร่วมทีมเล่นดีขึ้นด้วย
อย่างไอวาน โทนี่ย์ กองหน้าตัวหลักของทีม ก่อนอีริคเซ่นจะมา เขาลงเล่น 21 นัด ยิงได้ 6 ลูก แต่พออีริคเซ่นมา ลงเล่น 11 นัด (ตัวจริง 10 สำรอง 1) เขายิงได้ 6 ลูก ว่าง่ายๆ คือพออีริคเซ่นมาปั๊บ โทนี่ย์ยิงเพิ่มได้ประมาณ 1 เท่าตัว
อีริคเซ่นเมื่อก่อนอาจจะยืนเป็นผู้เล่นหมายเลข 10 อยู่หลังกองหน้าตัวเป้า แต่เมื่อเติบโตขึ้นสไตล์การเล่นของเขาก็เปลี่ยนไปแล้ว เขาถอยมาเป็น Deep-lying Playmaker จะมีเติมไปบุกสูงๆ บ้างเป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตาม ถือว่ามีประสิทธิภาพสูงอยู่ดี
สิ่งที่แน่ชัดมากๆ คือ อีริคเซ่นไม่ได้ลดคุณภาพลงแม้จะมีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอยู่ในร่างกาย เขายังเล่นได้ดี และเป็นผู้เล่นที่อันตรายอยู่เช่นเดิม
โอเค อีริคเซ่นตอนนี้ ไม่ใช่ร่างหนุ่มเมื่อ 4-5 ปีก่อน แต่ก็ยังมีทักษะที่ดีเยี่ยมใช้ได้เลย
หลังจบฤดูกาล อีริคเซ่นกลายเป็นนักเตะฟรีเอเยนต์ ทางเบรนท์ฟอร์ดที่รอดตกชั้นแล้ว จึงยื่นข้อเสนอระยะยาวให้อีริคเซ่นพิจารณา โดยระบุว่าพร้อมจะ “ทำลายกำแพงค่าเหนื่อย” อย่างเต็มใจ ถ้าอีริคเซ่นเลือกจะอยู่ต่อ เขาจะกลายเป็นนักเตะที่มีรายได้สูงที่สุดในประวัติศาสตร์สโมสร
แม้จะขอบคุณเบรนท์ฟอร์ด ที่ให้โอกาสเขาตอนที่ไม่มีใครสนใจ แต่ความต้องการของนักฟุตบอลระดับท็อปอย่างอีริคเซ่นคือ “ฟุตบอลยุโรป” เขาต้องการกลับไปสู่เวทีที่ใหญ่กว่านี้ ซึ่งเบรนท์ฟอร์ดเป็นทีมที่ดี แต่เรื่องเกมยุโรปก็มอบให้เขาไม่ได้
ดังนั้นเมื่อแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยื่นข้อเสนอเข้ามา ก็ไม่ได้เซอร์ไพรส์อะไรที่อีริคเซ่นจะสนใจ ทีมปีศาจแดงเป็นสโมสรใหญ่ ได้เล่นในรายการยุโรป (ยูฟ่า ยูโรป้าลีก) และมีโอกาสดีมาก ที่จะไต่ไปถึงท็อปโฟร์ในฤดูกาลหน้า มันสามารถตอบโจทย์ชีวิตของอีริคเซ่นได้มากกว่า
โอกาสลงเล่นก็ถือว่ามีเยอะ เพราะในระบบ 4-2-3-1 ของแมนฯ ยูไนเต็ด อีริคเซ่นสามารถยืนเป็นมิดฟิลด์ตัวกลางเหมือนสมัยเล่นที่เบรนท์ฟอร์ดก็ได้ จะจับคู่กับสกอตต์ แม็คโทมิเนย์ หรือ เฟร็ด ก็ไม่มีปัญหา หรือจะคู่กับเฟรงกี้ เดอ ยอง ก็ได้ ถ้าหากการซื้อขายสำเร็จ
หรือถ้าไม่ได้เล่นมิดฟิลด์ตัวกลาง จะขยับไปยืนปีกซ้ายก็ได้เช่นกัน หากมองว่ามิดฟิลด์ตัวรุกต้องเป็นตำแหน่งของบรูโน่ เฟอร์นันเดสแน่ๆ คือเขายืดหยุ่นได้ดี ยืนตรงไหนก็ไม่มีปัญหา
ในมุมของแมนฯ ยูไนเต็ดนั้น ดีลนี้จ่ายแค่ค่าเหนื่อยเท่านั้น ได้นักเตะชื่อเสียงโด่งดังขนาดนี้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าตัวสักปอนด์มันคุ้มจะตาย
ขณะที่ศักยภาพของอีริคเซ่น เชื่อว่า เอริค เทน ฮากก็น่าจะชอบ เพราะเขาต้องการผู้เล่นที่มีประสบการณ์อยู่ในทีมเสมอ อย่างตอนคุมอาแจ๊กซ์ ในกลุ่มเด็กหนุ่ม ก็ยังต้องมี ดูซาน ทาดิช และ ดาลีย์ บลินด์ประคองไว้ ดังนั้นถ้ามีผู้เล่นวัย 30 อย่างอีริคเซ่นสักคน ก็ดูจะทำให้แผงมิดฟิลด์มีความบาลานซ์ขึ้นพอสมควร
ดังนั้นในภาพรวม นี่คือเป็นดีลที่ยอดเยี่ยมมากๆ Win-Win Situation ของทั้งนักเตะและสโมสร
นักเตะอยากกลับไปอยู่จุดสูงสุด ส่วนสโมสรต้องการผู้เล่นที่มีคุณภาพมาเสริมทัพ ดังนั้นต่างคนต่างตอบโจทย์กันและกันมากจริงๆ
ส่วนตัวผม ถ้าเป็นแฟนแมนฯ ยูไนเต็ดผมจะดีใจมากๆ กับดีลนี้ เพราะสิ่งที่อีริคเซ่นมีมากกว่าเรื่องฝีเท้าคือสปิริตนักสู้ คิดดูว่าแม้จะเป็นโรคหัวใจแต่ก็ยังไม่ยอมแขวนสตั๊ด ยังสู้ต่อแม้จะเสี่ยงตัวตายก็ตาม
ดังนั้นการมาของเขา น่าจะเป็นแรงบันดาลใจดีๆ ให้ผู้เล่นแมนฯ ยูไนเต็ดได้เห็น ว่าคนที่เขาเป็น Fighter จริงๆ มันต้องแบบนี้
คนที่จริงจังกับชีวิต จริงจังกับฟุตบอล ไม่ได้ทำเป็นเล่น ไม่ได้เต้นไร้สาระ ยังมีอยู่ตรงนี้อีกคน
แม้จะเคยหัวใจหยุดเต้น ยังคงสู้ต่อเพื่อความฝัน เพื่อฟุตบอล แล้วกับคนที่ร่างกายแข็งแรงปกติดี หัวใจยังเต้นอยู่ทุกวัน ทำไมไม่ทุ่มเทเต็มร้อยสักหน่อย เพื่อทำให้แฟนปีศาจแดง ได้มีความสุขบ้างล่ะ จริงไหม